Tag Archives: ธุรกิจครอบครัว

กลยุทธ์ในการทำธุรกิจครอบครัวเพื่อป้องกันการเกิดปัญหากันในครอบครัว


หลายคนที่คิดกำลังจะสานต่อธุรกิจครอบครัว หรือใครก็ตามที่กำลังทำธุรกิจกับครอบครัวอยู่  เรามีเกร็ดความรู้ที่เกี่ยวกับการทำธุรกิจครอบครัวมาฝาก
ธุรกิจครอบครัวคือ ธุรกิจที่หุ้นของกิจการมากกว่าครึ่งหนึ่งเป็นเจ้าของโดยสมาชิกของครอบครัวใดครอบครัวหนึ่ง หรือธุรกิจที่มีการสืบทอดมาสู่ลูกหลานอีกรุ่นหนึ่ง

ประโยชน์ของธุรกิจครอบครัว
– มีมุมมองเดียวกัน ทุกคนมีส่วนร่วมในอุดมการณ์และความเชื่อในสิ่งที่ควรทำเหมือนๆ กัน ซึ่งจะทำให้เกิดความรู้สึกพิเศษที่มุ่งมั่นและภาคภูมิใจ ที่เป็นข้อได้เปรียบทางการแข่งขันของธุรกิจ
– สามารถทุ่มเทกับการทำงานได้อย่างเต็มที่ ในการทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้จำเป็นต้องใช้เวลาและความพยายามสูง ซึ่งในกรณีของธุรกิจครอบครัว จะมีความเข้าอก เข้าใจเป็นพิเศษสำหรับวิธีการทำงานที่ทำให้แต่ละคนสามารถมีความยืดหยุ่นในเรื่องของเวลามากขึ้น
– ความซื่อสัตย์ ความสัมพันธ์ส่วนตัวที่เข้มข้น หมายถึง การที่ทุกคนในครอบครัวจะยึดติดกันไว้แม้ในยามยาก รวมทั้งแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้
– ความมั่นคง ความเป็นธุรกิจครอบครัวทำให้ทุกคนตระหนักดีว่าจะต้องเก็บธุรกิจนี้ไว้ให้รุ่นลูกหลานสืบต่อไป ซึ่งจะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความคิด การวางแผนให้ธุรกิจเติบโต และประสบความสำเร็จในระยะยาว
– ต้นทุนลดลง สมาชิกของครอบครัวบางครั้งอาจยอมสละผลประโยชน์ทางการเงินบางส่วนเพื่อให้ธุรกิจอยู่ได้ ตัวอย่างเช่น การยอมรับค่าจ้างที่ต่ำกว่าการไปทำงานที่อื่น หรือยังไม่รับเงินเดือนในช่วงที่เกิดปัญหาทางการเงิน เป็นต้น

อะไรที่ควรคำนึงถึงในการทำธุรกิจครอบครัว
ก่อนที่จะตัดสินใจทำธุรกิจครอบครัว มีประเด็นที่อาจต้องเผชิญ ต้องคำนึงถึง และตัดสินใจ ดังนี้
• หุ้นทางธุรกิจจะถูกนำมาจัดสรรระหว่างสมาชิกในครอบครัวและถ้ากรณีมีบุคคลอื่นมาถือหุ้นด้วย ต้องแน่ใจว่าการตัดสินใจจะอยู่บนพื้นฐานของเหตุผลทางธุรกิจมากกว่าเหตุผลส่วนตัว
• บทบาทและความรับผิดชอบจะแตกต่างกันระหว่างผู้ถือหุ้นภายในครอบครัวซึ่งมีบทบาทมากในธุรกิจกับบางคนที่ไม่ใส่ใจ รวมถึงผู้ถือหุ้นจากภายนอก การให้ผลตอบแทนแก่สมาชิกในครอบครัวตามบทบาทและความรับผิดชอบที่มีอยู่อาจก่อให้เกิดปัญหาได้
• บางครั้งอาจต้องเผชิญกับความขัดแย้งที่เกิดจากอารมณ์ ความรู้สึก ที่มาพร้อมกับทางด้านธุรกิจ ผู้ทำหน้าที่บริหารต้องแสดงความรู้สึกทั้งในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว ในขณะเดียวกับที่ต้องทำตัวเป็นเจ้านายเขาด้วย นอกจากนั้น ต้องพยายามหลีกเลี่ยงความขัดแย้งกับคนที่พิจารณาแล้วว่ามีส่วนต่อความสำเร็จในการทำธุรกิจ
• ต้องทำให้เกิดความมั่นใจได้ว่าการเงินของครอบครัวจะไม่ขึ้นอยู่กับธุรกิจทั้งหมด

ปัญหาใหญ่ที่ไม่ควรมองข้ามและนำมาสู่การแก้ไข
การทำธุรกิจครอบครัวเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน การผสมผสานระหว่างอารมณ์ ความรู้สึกกับการดำเนินธุรกิจอาจทำให้เกิดความขัดแย้งเกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นสามารถมองในทางบวกว่าเป็นสิ่งที่ท้าทายที่นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลง หากสามารถหลีกเลี่ยงหรือจัดการกับความขัดแย้งนั้นได้ โดยลองใช้วิธีที่จะแนะนำดังต่อไปนี้
– ลองคิดดูว่าคนในธุรกิจมีการติดต่อสื่อสารกันอย่างไร มีการแยกแยะระหว่างเรื่องความรู้สึกส่วนตัวกับเรื่องงานหรือไม่ มีกระบวนการทำงานในองค์กรที่เอื้ออำนวยต่อบุคลากรอื่นนอกเหนือจากสมาชิกของครอบครัวได้แสดงความคิดเห็น รวมทั้งสังเกตดูว่ามีใครในองค์กรที่มีแนวโน้มที่จะครอบงำความคิดของผู้อื่น
– วิธีการที่ดีที่สุดในการหลีกเลี่ยงความขัดแย้งคือ การป้องกันความเข้าใจผิดจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งแรก หรือคำโบราณที่เรียกว่า “ตัดไฟแต่ต้นลม” การมีธรรมนูญที่ใช้เป็นข้อปฏิบัติของครอบครัวจะช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้
– จัดให้มีการประชุมร่วมกันระหว่างผู้บริหารธุรกิจ เพื่อลดปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นโดยใช้เสียงข้างมากในการตัดสินใจเป็นหลัก
– ถ้าเกิดเหตุรุนแรงจนไม่สามารถแก้ไขได้ อาจต้องพึ่งที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกมาทำหน้าที่เป็นเสมือนตัวกลางไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่เกิดขึ้น
– ต้องใช้การสื่อสารเป็นเครื่องมือในการลดปัญหาความขัดแย้ง ซึ่งอาจทำได้โดย การไม่พูดถึงเรื่องส่วนตัวในที่ประชุม สร้างกลไกในการมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ของทุกฝ่ายเพื่อลดความรู้สึกการไม่มีส่วนร่วมของบุคลากรที่ไม่ใช่ในครอบครัว จัดให้มีการประชุมสัมมนานอกรอบอย่างไม่เป็นทางการบ้างเพื่อคุยในเรื่องของทิศทางและกลยุทธ์องค์กร หรือแต่งตั้งที่ปรึกษาที่มีประสบการณ์สำหรับทำหน้าที่เสมือนตัวกลางเพื่อลดความกดดันจากการประชุม หารือเรื่องธุรกิจลง