คงมีคนหลายคนที่มีความฝันอยากเป็นผู้ประกอบการ อยากเป็นเจ้านายของตัวเอง แต่ในความเป็นจริงแล้วยังมีหลายเงื่อนไขที่ทำให้ยังไปไม่ถึงจุดนั้น และด้วยเหตุผลที่ว่า เรายังมีค่าใช้จ่ายประจำและมีภาระที่ต้องดูแลอยู่ทุกเดือน ทำให้การลาออกจากบริษัทเพื่อมาทำตามฝันนั้นดูจะยากไปสักนิด แต่รู้ไหมว่าในขณะที่เรายังต้องเป็นพนักงานให้กับบริษัทอื่นอยู่นั้น เราก็สามารถที่จะพัฒนาศักยภาพในการทำธุรกิจของตัวเองและเตรียมตัวก่อนที่จะไปเป็นผู้ประกอบการอย่างที่หวังในอนาคตได้ด้วยวิธีเหล่านี้
1.สมมุติตัวเองเป็นCEO
ความคิดเป็นจุดเริ่มต้นของทุกสิ่ง การเริ่มต้นคิดและลงมือทำสิ่งต่างๆ โดยตั้งเป้าหมายให้สูงขึ้นจะทำให้เข้าใกล้เป้าหมายเร็วขึ้น ลองเริ่มต้นจินตนาการว่าเราเป็น CEO ในแผนกที่ทำงานอยู่ และตั้งเป้าหมายขึ้นมาว่าจะทำอะไรให้สำเร็จในระหว่างที่เราบริหารงานองค์กรนี้ได้บ้าง หลังจากนั้นลองวางแผนงานให้เป็นระบบ เลือกใช้เครื่องมือต่างๆ มาช่วยในการทำงาน โดยอย่าลืมสำรวจตัวเองเป็นระยะๆ ว่าแนวทางการทำงานที่ทำอยู่นั้นส่งผลดีผลเสียให้แก่องค์กรหรือไม่ มีส่วนไหนที่จะสามารถปรับปรุง ลดทอน หรือเพิ่มเติมขึ้นมาเพื่อช่วยให้องค์กรที่เราดูแลอยู่ได้งานที่มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยใช้ต้นทุนต่ำสุด และเพิ่มผลกำไรหรือผลประโยชน์สูงสุด ตัวอย่างเช่นถ้าทำงานเ็ป็นผู้จัดการแผนกขาย แทนที่จะทำให้ได้ยอดขายตามเป้าไปเรื่อยๆ อาจลองกำหนดเป้าหมายเพิ่มเติมขึ้นมา เช่นเพิ่มกำไรให้มากขึ้นด้วยการบริหารจัดการต้นทุน หรือเปิดตลาดใหม่ๆ นอกเหนือจากตลาดปัจจุบัน หรือพัฒนาสินค้าใหม่ให้ตรงกับความต้องการตลาดมากขึ้น แล้ววางแผนและประสานงานให้ดำเนินไปตามทิศทางนั้น การทำงานอยู่บนพื้นฐานความคิดว่าเราเป็นผู้บริหารหรือเจ้าของบริษัทเช่นนี้ นอกจากจะได้ฝึกฝนวิธีคิดแบบผู้บริหารที่จะต้องโฟกัสไปที่ผลลัพธ์และเป้าหมายซึ่งมีประโยชน์ต่อการทำธุรกิจต่อไปในอนาคตแล้ว งานที่รับผิดชอบก็จะเป็นงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อทั้งตัวเราเองและองค์กรด้วย
2.สร้างแรงบันดาลใจ
บรรดาผู้ประกอบการรายใหม่ๆ มักจะมีเงินส่วนที่เป็นรางวัลให้พนักงาน เช่นโบนัสหรือคอมมิชชั่นไม่ค่อยมากนัก เนื่องจากผลประกอบการยังมีไม่มากพอจะทำเช่นนั้นได้ แต่ก็จะมีช่องทางที่สามารถให้โอกาสแก่เหล่าพนักงานให้มีส่วนร่วมกันหาทางทำเงินเพิ่มกำไรใ้ห้บริษัทในทางอื่นๆ แล้วค่อยแบ่งปันผลกำไรให้เป็นรางวัลความพยายามแก่พนักงานได้ การให้โอกาสพนักงานเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จของบริษัทและให้รางวัลตอบแทนเช่นนี้ สามารถแรงบันดาลใจให้พนักงานรู้สึกกระตือรือร้นในการทำงานให้ได้ผลลัพธ์ตามที่หวังไว้ได้มากขึ้น ลองฝึกฝนการเป็นผู้นำผู้สร้างแรงบันดาลใจให้ลูกทีมดูโดยสร้างแรงบันดาลใจให้กับลูกทีมในแผนกหรือองค์กรที่ทำงานอยู่ โดยการผลักดันไอเดียใหม่ๆ ของลูกทีมที่เกี่ยวข้องกับงานที่เรารับผิดชอบ คอยให้กำลังใจและชื่นชมเมื่อลูกทีมทำงานได้สำเร็จ รวมถึงช่วยให้คำแนะนำเมื่อติดปัญหา คุณสมบัติการเป็นผู้นำที่สามารถผลักดันให้ลูกน้องพัฒนาและเติบโตได้ด้วยตัวเองนี้จะติดตัวไปเมื่อคุณได้เริ่มมีธุรกิจเป็นของตัวเอง ซึ่งอาจช่วยทำให้องค์กรเติบโตและพัฒนาได้ด้วยพลังของทีมงาน
3.ทำโปรเจ็คคู่ขนานไปกับงานที่ทำ
ในความเป็นจริงอาจจะไม่จำเป็นต้องรอลาออกจากงานก่อนแล้วเริ่มธุรกิจของตัวเองก็ได้ อาจจะลองเริ่มต้นทำธุรกิจเล็กๆ ของตัวเองควบคู่ไปกับการทำงานประจำ โดยอาจจะเจียดเวลาสัก 1-2 ชั่วโมงตอนเย็นของทุกวัน หรือใช้เวลาวันหยุดสุดสัปดาห์มามองหาโอกาสในการทำธุรกิจ แล้วเริ่มต้นคิดและจดบันทึกสิ่งที่คิดว่าสามารถทำได้ และค่อยๆ พัฒนาโปรเจ็คขึ้นมาโดยใช้เวลาว่างจากการทำงานประจำ ธุรกิจที่อาจพอทำได้ในสถานการณ์เช่นนี้อาจจะเป็นโปรเจ็คง่ายๆ ไม่ซับซ้อนนัก เช่นซื้อของมาขายทางอินเตอร์เน็ตหรือขายที่ตลาดนัดวันเสาร์อาทิตย์เป็นต้น ซึ่งการได้ลองทำธุรกิจควบคู่ไปกับการทำงานประจำเช่นนี้นอกจากจะเป็นการกระจายความเสี่ยงหากธุรกิจไม่ประสบความสำเร็จแล้ว ยังเป็นการพิสูจน์ทฤษฎีของตัวเราเอง ถ้าธุรกิจประสบความสำเร็จก็เป็นสิ่งที่เพิ่มความมั่นใจให้กับเราว่ามาได้ถูกทางแล้ว แต่ถ้าผิดพลาดอย่างน้อยก็ทำให้เรารู้ว่าเป็นเพราะเหตุใดและสิ่งใดควรหลีกเลี่ยงไม่ทำในอนาคต และไม่ว่าผลจะออกมาเป็นแบบไหนอย่างน้อยเราก็จะได้ทักษะและวิธีคิดในการทำธุรกิจด้านในด้านหนึ่งติดตัวกลับมาอย่างแน่นอน
4.ยอมรับข้อผิดพลาด
การนำเสนอความคิดใหม่ๆ นั้น บางอย่างก็สามารถนำไปต่อยอดจนประสบความสำเร็จได้มากมาย แต่ก็ยังมีอีกหลากหลายแนวคิดที่ไม่สามารถนำไปใช้ได้จริงๆ อย่างไรก็ตามการเสนอความคิดเหล่านี้ไม่ว่าจะถูกหรือผิดก็น่าจะมีประโยชน์อยู่บ้าง โดยเฉพาะความคิดที่ผิดก็สามารถใช้เป็นประสบการณ์เพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไขในครั้งต่อไป ดังนั้นในการฝีกฝนการบริหารงานในฐานะเจ้าของธุรกิจจึงไม่ควรมองข้ามการฝึกฝนคำพูดเชิงให้กำลังใจและยอมรับข้อผิดพลาดของพนักงานในหน่วยงานที่รับผิดชอบ ลองมอบรางวัลให้กับความพยายามที่จะเสนอไอเดียแม้ว่าจะนำไปใช้ไม่ได้ก็ตาม แทนที่การตำหนิต่อว่าที่บั่นทอนกำลังใจ เพราะการลงโทษเช่นนั้นจะทำให้ลูกทีมของเราไม่กล้าแสดงความคิดเห็นและจะทำให้องค์กรหยุดพัฒนาไปข้างหน้า
5.กำหนดเป้าหมายที่ท้าทายมากขึ้น
โดยปกติแล้วในทุกๆ ธุรกิจก็จะมีการตั้งเป้าหมายเอาไว้อยู่แล้ว ความทะเยอยานของเราจะนำสู่เป้าหมายที่สูงขึ้น แต่การกำหนดจุดมุ่งหมายที่สูงขึ้นนั้นจะต้องอยู่ในขอบเขตที่เราสามารถทำได้จริง และจะต้องระบุเป้าหมายให้แน่ชัด รวมถึงต้องลงรายละเอียดให้ลึกว่าแต่ละคนในทีมมีหน้าที่ทำอะไรและจะไปถึงจุดมุ่งหมายได้อย่างไร และต้องย้ำกันในทีมบ่อยๆ ถึงแผนที่วางเอาไว้เพื่องานดำเนินไปอย่างราบรื่น วิธีการกำหนดเป้าหมายท้าทายเช่นนี้จะช่วยให้ทีมมีมาตรฐานการทำงานที่สูงขึ้นเรื่อยๆ
ถึงแม้เราจะยังไม่ได้มีธุรกิจเป็นของตัวเอง แต่อย่างน้อยเราก็ยังสามารถฝึกฝนและหาประสบการณ์ก่อนที่จะไปถึงขั้นนั้นได้ไม่ยาก เพียงลองมองเรื่องใกล้ๆ ตัวเพื่อปรับมุมมองความคิดของตัวเองให้เป็นผู้ประกอบการเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนที่จะไปถึงขั้นนั้นจริงๆ