Monthly Archives: October 2015

ธุรกิจอาหารย่อมต้องคงอยู่อย่างเสถียรตราบที่มนุษย์ยังคงดำรงชีพด้วยการกินอาหาร

12

ในภาวะการเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ ล้วนแล้วแต่เป็นภาวะการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้แต่ละประเทศทั่วโลกต้องเผชิญกับผลกระทบอันหลากมิติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งในปัจจุบันประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกก็มักประสบกับปัญหาข้างต้นนั้นอยู่ เช่น ปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดการชะลอตัวอันขยายวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นประเทศมหาอำนาจทั้งสองขั้ว หรือประเทศยักษ์ใหญ่ในฝั่งยุโรปก็ตาม ถึงแม้จะมีการรวมกลุ่มก้อนเพื่อเกื้อหนุนกันทางเศรษฐกิจ หรือสร้างสถานการณ์ต่อรองทางอำนาจใด ๆ ก็ตาม ก็ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นมากมายนัก และปัญหาทางการเมือง สังคม วัฒนธรรม ก็เป็นปัญหาหนึ่งที่เป็นตัวฉุดรั้งทำให้เกิดผลกระทบในระบบเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน แม้กระทั่งประเทศไทยเองก็ตาม ส่วนภัยธรรมชาติก็เป็นปัญหาสำคัญที่หลายประเทศต่างต้องเผชิญกันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นภัยแล้ง อุทกภัย วาตภัย แผ่นดินไหว หรือแม้แต่การเปลี่ยนแปลงที่ผิดปกติของฤดูกาลจนทำให้ผลผลิตการเกษตรต่าง ๆ ในหลายประเทศได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อย เป็นต้น นี่เป็นตัวอย่างคร่าว ๆ ที่แสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงอันหลากมิติที่เกิดขึ้นจริงทั่วทุกมุมโลกในขณะนี้

อย่างไรก็ตามไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใดหรือเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรม จะเป็นเช่นใด มนุษย์ก็ยังคงต้องดำรงชีพด้วยการกินอยู่ดี ดังนั้น ธุรกิจอาหารย่อมต้องคงอยู่อย่างเสถียรตราบที่มนุษย์ยังคงดำรงชีพด้วยการกินอาหาร นั่นเป็นสัจนิรันดร์ และในโลกแห่งไซเบอร์ปัจจุบัน เทคโนโลยีการสื่อสารที่ทันสมัยเฉียบไวนั้นเป็นเครื่องมืออันชาญฉลาดที่มนุษย์ได้พัฒนาไปอย่างไม่หยุดยั้ง ซึ่งย่อโลกให้แคบลงอย่างไม่น่าเชื่อ ทุกคนสามารถรับข้อมูลข่าวสารได้อย่างทั่วถึง และเรียนรู้สิ่งที่แตกต่างจากทั่วทุกมุมโลกได้ง่ายดายและรวดเร็วเพียงปลายนิ้วสัมผัส จนบางครั้งเกิดเป็นภาวะการเสพติดไอทีที่ขยายวงกว้างไปทั่วโลก แต่ในทางกลับกันเป็นการสื่อให้รู้ว่าสิ่งที่ธุรกิจอาหารจะขาดไม่ได้ก็คือการติดต่อสื่อสารนั่นเองซึ่งต้องรู้จักนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด เพื่อเข้าสู่ระบบของธุรกิจได้ง่ายที่สุดและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างทั่วถึง

ปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจขนาดย่อมประสบความสำเร็จ

ปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจขนาดย่อมประสบความสำเร็จ
ธุรกิจขนาดใหญ่จะได้เปรียบและมีโอกาสมากกว่าธุรกิจขนาดย่อมแต่ธุรกิจขนาดย่อมก็สามารถเผชิญกับปัญหาและดำรงอยู่ได้ สร้างความเจริญเติบโตโดยการสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน และปัจจัยอื่นๆ ดังนี้

1.การสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน (Competitive Advantage) การสร้างศักยภาพและความได้เปรียบทางการแข่งขันโดยอาศัยองค์ประกอบต่อไปนี้

– มีความยืดหยุ่น (Flexiblity) จากข้อจำกัดของธุรกิจขนาดใหญ่ที่แม้ว่า จะได้เปรียบธุรกิจเล็ก ในด้านการผลิตสินค้าได้เป็นจำนวนมาก ด้วยต้นทุนการผลิตต่อหน่วยที่ต่ำกว่า แต่ก็ไม่อาจปรับเปลี่ยน การผลิตได้อย่างรวดเร็วเมื่อความต้องการของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลง เพราะการปรับเปลี่ยนแต่ละครั้งต้องจ่ายค่าใช้จ่ายสูง ไม่คุ้มทุน ในขณะที่ธุรกิจขนาดย่อมสามารถปรับตัวได้รวดเร็วกว่า ในการที่จะสนองความต้องการเฉพาะ ของลูกค้าด้วยค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่า ฉะนั้นผู้ประกอบการจะต้องรู้จักใช้โอกาสนี้

– สร้างนวัตกรรม (Innovation) นวัตกรรมในการผลิตหรือพัฒนาผลิตภัณฑ์ มักมีจุดเริ่มต้นมาจาก นักประดิษฐ์อิสระ และจากกิจการขนาดเล็กในขณะที่ธุรกิจขนาดใหญ่ มักจะพัฒนาผลิตภัณฑ์จากผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่แล้ว ซึ่งมีพื้นฐานการประดิษฐ์คิดค้น จากผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็กให้ดีกว่าเดิม และพยายามทำกำไร หรือหาผลตอบแทน จากการลงทุนในเครื่องจักร อุปกรณ์ และ โรงงาน ผู้ประกอบกิจการขนาดเล็กจำเป็นต้องสร้างนวัตกรรม หรือสิ่งใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้น รวมทั้งการปรับปรุงของเก่าให้ดีขึ้นด้วย จึงจะสามารถสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันได้

2.การบริหารธุรกิจขนาดย่อม ( Small Business Administration (SBA) แบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ

– นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ (Product innovation) เป็นการสร้างผลิตภัณฑ์ รวมถึงการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้ดีกว่าเดิม

– นวัตกรรมบริการ (Service innovation) เสนอบริการที่แตกต่างและดีกว่าเดิมหรือเหนือกว่าคู่แข่งขัน

– นวัตกรรมกระบวนการ (Process innovation) เป็นการคิดค้นกระบวนการใหม่ ๆ ทั้งการผลิตสินค้าและบริการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

– นวัตกรรมการบริหารจัดการ (Management innovation) เป็นการคิดหาวิธีการ จัดการที่มีประสิทธิภาพใหม่ ๆ เพื่อจัดการกับทรัพยากรของกิจการให้ได้ประโยชน์สูงสุด

3.สร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า (Close Relationship to Customers) ในเมื่อธุรกิจขนาดเล็กอยู่ใกล้ชิดกับลูกค้า จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการจะสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน ด้วยการสร้างสัมพันธ์อันดีกับลูกค้า และเสนอสินค้าและบริการพิเศษให้เป็นที่พึงพอใจของลูกค้า

4.ผลิตสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ (Product Quality) ภายใต้สภาพการแข่งขันอย่างรุนแรงของธุรกิจ วิธีที่จะทำให้ธุรกิจขนาดเล็กประสบความสำเร็จได้ จะต้องผลิตสินค้าหรือบริการ ที่มีคุณภาพได้มาตรฐานในระดับที่ลูกค้า ต้องการ ในราคาที่เต็มใจจะจ่าย โดยผู้ประกอบการจะต้องรักษาคุณภาพให้มีความสม่ำเสมอ ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ทำให้ลูกค้าพอใจ และต้องการ มากกว่าผลิตภัณฑ์ของคู่แข่งขัน ดังนั้น ผู้ประกอบการจะต้องสร้างคุณภาพในตัวสินค้าและบริการให้ได้มาตรฐานเพราะไม่เพียงแต่ จะรักษาลูกค้าเดิมได้ยังเป็นการเพิ่มลูกค้าใหม่ได้อีกมาก นอกจากนี้ผู้ประกอบการจะต้องพิจารณาให้รอบคอบ ถึงสิ่งที่จะทำให้สามารถ ดำเนินการให้ประสบความสำเร็จได้